วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505




พระราชบัญญัติ
ผู้สอบบัญชี
.. 2505
–––––––––––
ภูมิพลอดุลยเดช ป..
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 ตุลาคม พ.. 2505
เป็นปีที่ 17 ในรัชกาลปัจจุบัน
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
          โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี
          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
          มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.. 2505
          มาตรา 2พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้
          ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้ และใบอนุญาตนั้นยังไม่ขาดอายุ ไม่ถูกพักหรือไม่ถูกเพิกถอน
          รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาราชการตามพระราชบัญญัตินี้
          มาตรา 4  ให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี เรียกโดยย่อว่า ก.บชประกอบด้วยปลัดกระทรวงเศรษฐการเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพากร ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกแปดคนในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวน
          ให้ ก.บชเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานกรรมการในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของประธานกรรมการตามที่ประธานกรรมการมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนประธานกรรมการในเมื่อประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
          กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจแต่งตั้งซ้ำอีกได้ แต่ไม่เกินกว่าสองครั้งติดกัน
          มาตรา 5  กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
          (1) ครบวาระ
          (2) ลาออก
          (3) ถูกพักใบอนุญาต ถูกเพิกถอนในอนุญาต หรือขาดต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
          (4) เป็นบุคคลล้มละลาย
          (5) เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
          (6) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
          ภายใต้บังคับมาตรา 4 เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน
          กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการที่ตนแทน
          มาตรา 6  เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นคงอยู่รักษาการต่อไปจนกว่ากรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
          มาตรา 7  ให้จัดตั้งสำนักงาน ก.บชขึ้นในกระทรวงเศรษฐ์การมีนายทะเบียนคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและในกิจการอื่นทั่วไป และให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร ให้นายทะเบียนเป็นเลขานุการ ก.บชด้วย
          มาตรา 8  ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม ก.บช.เพื่อปรึกษากิจการเป็นครั้งคราวตามที่เห็นสมควร
          กรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนจะเข้าชื่อกันขอให้ประธานกรรมการเรียกประชุม ก.บชก็ได้
          มาตรา 9  การประชุม ก.บชต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าในการประชุมคราวใดประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติ  หน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการด้วยกันคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
          ภายใต้บังคับมาตรา 10 มติของที่ประชุม ก.บชให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
          มาตรา 10  มติของที่ประชุม ก.บชดังต่อไปนี้ จะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด
          (1) มติให้สั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
          (2) มติรับผู้สอบบัญชีที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตใหม่ตามมาตรา 20
          มาตรา 11  ให้ ก.บชมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
          (1) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
          (2) สั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
          (3) ออกข้อบังคับวางหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ การออกการต่ออายุ และการออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีอนุญาต
          (4) ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาอื่น ในการศึกษาวิชาชีพสอบบัญชี
         มาตรา 12  ให้ ก.บชมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำกิจการหรือไต่สวนพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจและหน้าที่ของ ก.บช.ได้
         ให้นำความในมาตรา 9 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
          มาตรา 13  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้มีการสอบบัญชี หรือให้มีผู้สอบบัญชี ห้ามมิให้ผู้ใดลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีในฐานะผู้สอบบัญชี เว้นแต่
          (1) เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือ
          (2) เป็นการกระทำในทางราชการ
          มาตรา 14  เอกสารใดซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีผู้สอบบัญชีรับรอง ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารนั้น มิฉะนั้นเป็นอันไม่มีผลตามผลบัญญัติของกฎหมายนั้น
          ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่เอกสารซึ่งกระทำในทางราชการ
          มาตรา 15  ผู้ซึ่งจะขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ ต้อง
          (1) เป็นผู้ได้รับปริญญาทางการบัญชีหรือประกาศนียบัตรทางการบัญชีซึ่ง ก.บชเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี หรือเป็นผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีการศึกษาวิชาการบัญชี ซึ่ง ก.บชเห็น   สมควรให้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้
          (2) เคยปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสอบบัญชีมาแล้วโดย ก.บชเห็นว่าทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้
          (3) มีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์แล้ว
          (4) มีสัญชาติไทย หรือมีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สอบบัญชีในประเทศนั้นได้
          (5) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
          (6) ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่ ก.บช.เห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
          (7) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และ
          (8) ไม่ประกอบอาชีพอย่างอื่นที่ไม่เหมาะสมหรือทำให้ขาดความเป็นอิสระในหน้าที่ผู้สอบบัญชี
          มาตรา 16  ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต
          มาตรา 17  ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องมีสำนักงาน โดยแจ้งไว้ต่อสำนักงาน ก.บชขณะยื่นคำขอรับอนุญาต
          ในกรณีไม่มีสำนักงาน จะใช้ที่อยู่อาศัยของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นสำนักงานก็ได้
          การย้ายสำนักงาน ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องแจ้งต่อนายทะเบียน  ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันย้าย      สำนักงาน
          มาตรา 18  ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องรักษามรรยาทตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
          มาตรา 19  การสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 11 (2) ให้กระทำได้ เมื่อปรากฏว่าผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
          (1) ขาดลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 15 หรือ
          (2) กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
          การสั่งพักใบอนุญาต ให้สั่งพักได้ครั้งละไม่เกินหนึ่งปี
          ก่อนพิจารณาสั่งพักหรือเพิกถอนในอนุญาต ให้มีการไต่สวนโดยให้โอกาสแก่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตนั้นได้ทราบข้อกล่าวหาและยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
          ในการไต่สวนนั้น ให้ ก.บชหรือคณะอนุกรรมการที่ ก.บช.แต่งตั้งมีอำนาจเรียกเป็นหนังสือให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดเพื่อประกอบการพิจารณาได้
          มาตรา 20  ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอาจขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อ ก.บชได้พิจารณาแล้วไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ ผู้นั้นจะยื่นคำขอได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ ก.บชปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้า ก.บชปฏิเสธการออกใบอนุญาตในครั้งที่สองนี้แล้ว ผู้นั้นหมดสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอีกต่อไป
          มาตรา 21  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          มาตรา 22  ผู้ใดมิได้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตโฆษณาด้วยวิธีใด ๆ  แสดงว่าเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          มาตรา 23  ในวาระเริ่มแรก ให้ ก.บชประกอบด้วยปลัดกระทรวงเศรษฐการเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 4  และกรรมการอื่นอีกแปดคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
          เมื่อได้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตครบห้าสิบคนแล้ว ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง และให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามมาตรา 4  วรรคหนึ่ง
          มาตรา 24  บทบัญญัติมาตรา 13 และมาตรา 14 มิให้ใช้บังคับจนกว่าจะครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
          มาตรา 25  ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้ซึ่งได้กระทำการสอบบัญชี และลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีของนิติบุคคลในประเทศในฐานะผู้สอบบัญชีมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีโดยลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชีไม่น้อยกว่าปีละห้านิติบุคคล และเป็นผู้มีลักษณะตามมาตรา 15 (3) (4) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ได้ เมื่อ ก.บช.พิจารณาเป็นที่พอใจแล้วก็ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้
          มาตรา 26  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐ์การรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
          กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
อัตราค่าธรรมเนียม
     (1) ค่าออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต                                  200 บาท
     (2) ค่าแก้ไขใบอนุญาต ครั้งละ                                                           50 บาท
     (3) ค่าใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ                                                    50 บาท
     (4) ค่าสำเนาเอกสารที่นายทะเบียนรับรองว่าถูกต้อง ฉบับละ    20 บาท
                 หมายเหตุ:-  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การสอบบัญชีเป็นวิชาชีพอิสระแขนงหนึ่งอันมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมการสอบบัญชี ประกอบกับขณะนี้ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการบัญชีจากมหาวิทยาลัยและสำนักศึกษาต่าง ๆ มากขึ้น จึงสมควรจะได้ตรากฎหมายกำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สอบบัญชีให้อยู่ในมาตรฐาน ให้มีคณะกรรมการควบคุมให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว